ตำนานเมืองหนองหารหลวง๑
๑. บทนำ
ตำนานหนองหารหลวงนี้ ผู้เขียนได้ข้อมูลจากตำนานเมืองสกลนครซึ่งอำมาตย์โทพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ พรหมสาขา ณ สกลนคร) ได้สั่งบันทึกไว้ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ มีผู้รับรองลงนาม ๓ ท่าน คือ พระอนุบาลสกลเขตร์, พระบริบาลศุภกิจ, พระวิชิตร์พลหาร
ตำนานพื้นบ้านเรื่องเมืองหนองหารนี้ พบในตำนานอุรังคธาตุ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่จารลงในใบลานด้วยอักษรธรรมและอักษรไทยน้อย เป็นคัมภีร์ที่ถูกคัดลอกและเล่าขานสืบต่อกันมาหลายชั่วคน ถ่ายทอดสู่สังคมด้วยมหรสพซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน เช่น หมอลำหมู่ ลำกลอน เป็นตำนานนิยายปรัมปราซึ่งมีข้อเท็จจริงแฝงอยู่ ซึ่งให้ทั้งความรู้ทางประวัติศาสตร์เรื่องราวความเป็นมาของอาณาจักรอีสาน ตลอดการเมืองการปกครอง ประเพณีวัฒนธรรม คติธรรมและความสนุกสนานเพลิดเพลิน ปลูกฝังความรักความสามัคคีต่อท้องถิ่นอีสานเป็นเรื่องดีเรื่อยมา๒
ตำนานอุรังคธาตุมี ๖ กัณฑ์ ตำนานเมืองหนองหารหลวงปรากฏในกัณฑ์ที่ ๖ โดยกัณฑ์นี้ได้บรรยายลักษณะการปกครอง และเหตุการณ์บ้านเมืองน้ำท่วมหนองหารหลวงและหนองหารน้อย เหตุการณ์พ่อคำบางเมืองสกลนครนำพลอพยพไปตั้งเมืองที่เวียงจันทน์ เหตุการณ์ของเมืองจุฬนี นครอินทปัตถ์ เหตุการณ์ชาวนครสาเกตอพยพไปตั้งอยู่ที่ริมฝั่งโขงตั้งบ้านเมืองทางหนองคาย๓
ตำนานเมืองหนองหารหลวงนี้ มีอยู่ ๒ ตำนาน ในตำนานที่ ๑ เรื่องพระยาสุรอุทกเจ้าเมืองหนองหารหลวง ชาวจังหวัดสกลนครและชาวบ้านทั่วไปอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยหรือค่อยได้ยินเท่าไรนัก ส่วนมากจะคุ้นเคยในตำนานที่ ๒ เรื่องท้าวผาแดง-นางไอ่คำ เพราะมีการแสดงเป็นลำเรื่องต่อกลอน (หมอลำหมู่)ในงานบุญประเพณีของชาวอีสานต่างๆเสมอ จึงมีการกล่าวเล่าขานสืบต่อมาจากรุ่นต่อรุ่นแต่ในตำนานที่ ๒ เท่านั้น เมื่อมีการนำเสนอในตำนานที่ ๑ จึงมักมีข้อถกเถียงกันอยู่เสมอว่า ตำนานเมืองหนองหารล่มจังหวัดสกลนครที่แท้จริงนั้นเป็นตำนานที่ ๑ หรือตำนานที่ ๒
ผู้เขียนจะนำเสนอตำนานหนองหารหลวงในคัมภีร์อุรังคธาตุโดยย่อแล้วแล้วจะแสดงบทวิเคราะห์ภายหลัง เพราะจะทำให้ผู้อ่านไม่เกิดความสับสน สามารถเข้าใจเรื่องราวและบทวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น โดยได้นำมาเรียบเรียงสำนวนใหม่ เพราะสำนวนที่ตีพิมพ์ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพรองอำมาตย์เอกพระอนุบาลสกลเขตร์ (เมฆ พรหมสาขา ณ สกลนคร) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ นั้น เป็นสำนวนภาษาโบราณที่เป็นภาษาพูดเป็นส่วนใหญ่ ผู้สนใจจะทราบข้อเท็จจริงนี้ สามารถคันคว้าได้จากสำนวนต้นฉบับตามที่แสดงไว้ในเชิงอรรถนั้น
-------------------------------------------------------------
๑ขุนศรีนครานุรักษ์, ตำนานเมืองสกลนคร, พิมพ์อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพรองอำมาตย์เอกพระอนุบาลสกลเขตร์ กรกฎาคม ๒๔๖๗ (กรุงเทพฯ:โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๗)
๒นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ, “ประวัติบางเรื่องเกี่ยวกับอีสาน.” อ้างใน หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระสังฆราชลาว (กรุงเทพฯ:จงเจริญการพิมพ์. ๒๕๒๘), หน้า ๒๐.
๓นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ, “ประวัติบางเรื่องเกี่ยวกับอีสาน, หน้า ๒๑-๒๒.
-------------------------------------------------------------
๒. ตำนานที่ ๑ เมืองหนองหารหลวง
ในสมัยแห่งพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ มีนครหลวงของขอมเมืองหนึ่งชื่อว่า อินทปัตถนคร มีพระราชอำนาจยิ่งใหญ่แผ่ไปในแถบภูมิภาคทิศาอาคเนย์แห่งนี้
พระเจ้าอินทปัตถนคร ได้มีพระราชโองการสั่งให้พระราชโอรสพระองค์หนึ่ง อพยพไพร่พลมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่ริมฝั่งแม่น้ำตรงท่านางอาบ ตั้งชื่อเมืองนั้นว่า เมืองหนองหารหลวง สถาปนาพระราชโอรสพระองค์นี้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองเมือง มีหน้าที่สอดส่องดูแลเมืองเล็กเมืองน้อยแถบลุ่มน้ำโขงตอนกลางที่เป็นเมืองขึ้นต่ออินทปัตถนคร
ขุนขอมกษัตริย์เมืองหนองหารหลวงมีพระราชอำนาจที่จะต้องดูแลอาณาเขตดังนี้
– ทิศตะวันออกจดแควันศรีโคตรบูรณ์
– ทิศใต้ตั้งแต่ลำน้ำมูลลึกเข้าไปถึงดงพญาไฟต้นแม่น้ำ
– ทิศตะวันตกจดเทือกเขาเพชรบูรณ์ต่อกับแคว้นทวารวดี
– ทิศเหนือจดเทือกเขาหลวงพระบางต่อกับแคว้นหริภุญไชย
ในยุคนั้นเมืองหนองหารหลวงจึงมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงและเป็นเมืองเอก เป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครองที่รับช่วงจากเมืองหลวงของขอมคืออินทปัตถนคร อันมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก
ขุนขอมเมืองหนองหารหลวงมีพระราชโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าสุรอุทกกุมาร พระราชกุมารพระองค์นี้ทรงเป็นผู้มีบุญญาธิการและ เดชมหิทธิฤทธิ์ เพราะในเวลาประสูตินั้นมีเหตุอัศจรรย์ ๒ อย่าง คือ มีน้ำพุผุดขึ้นจากแผ่นดินในซ่งป่าใกล้เมืองนั้น เรียกที่นั้นว่า ซ่งน้ำพุ มาจนถึงปัจจุบัน๔ และทรงถือพระขรรค์ออกมาตั้งแต่คลอดจากครรภ์พระมารดา แต่เมื่อพระราชกุมารมีพระชนม์ได้ ๑๕ พรรษา พระราชบิดาก็ได้สวรรคตลง
พระสุรอุทกราชกุมารได้ขึ้นเสวยราชแทนพระบิดา เมื่อได้เสวยเมืองแล้วพระองค์จึงเสด็จออกตรวจเขตแดนที่ปกครอง โดยลงไปทางใต้จนถึงปากแม่น้ำมูล พอไปถึงนั้นก็ทราบข่าวว่าอาณาเขตแถบแม่น้ำมูลนั้นพระราชบิดาและพระเจ้าปู่ทางอินทปัตถนครทรงยกให้ธนมูลนาคเป็นผู้ปกปักรักษาดูแล พระองค์ทรงขัดเคืองต่อพระราชบิดาและพระเจ้าปู่ยิ่งนัก เพราะไม่ทรงเห็นสมควรที่จะให้ธนมูลนาคซึ่งเป็นเพียงสัตว์เดรัจฉานดูแลอาณาเขตแทนพระองค์ ทรงพิโรธต่อธนมูลนาคจึงถอดพระขรรค์แสดงอิทธิฤทธิ์ไต่บนหลังน้ำไปท้ารบกับธนมูลนาค พญานาคและพระเจ้าสุรอุทกกุมารต่างต่อสู้กันด้วยอิทธิฤทธิ์แต่ไม่มีใครแพ้ชนะ จนในที่สุดต้องหยุดเลิกรากันไป พระเจ้าสุรอุทกกุมารจึงได้เสด็จกลับยังเมืองหนองหารหลวง
ฝ่ายพญาธนมูลนาคผูกใจอาฆาตต่อพระเจ้าสุรอุทกกุมาร ติดตามพระเจ้าสุรอุทกกุมารมาจนถึงเมืองหนองหารหลวง แล้วเนรมิตกายจำแลงเป็นฟานเผือก (เก้ง) วิ่งผ่านเมืองทางเหนือไปทางโพธิ์สามต้น ชาวบ้านเห็นฟานเผือกที่สง่างามเช่นนั้น จึงไปกราบทูลให้พระเจ้าสุรอุทกะทรงทราบ พระราชกุมารทรงให้เกณฑ์พรานป่าจำนวนมากจับฟานนั้นมาถวาย โดยทรงรับสั่งว่าถ้าจับเป็นไม่ได้ก็ขอให้จับตาย นายพรานทั้งหลายล้อมฟานไว้แล้วยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ฟานถูกยิงบาดเจ็บวิ่งหนีฝ่าวงล้อมออกไปจากบริเวณโพธิ์สามต้น ขึ้นไปจนถึงเขตบ้านหนองบัวก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหว ถึงแก่ความตาย ก่อนตายได้อธิษฐานจิตให้ร่างของตนที่เป็นฟานนั้นให้ขยายใหญ่โตเท่าพญาช้างสาร
นายพรานทั้งหลายได้ลากฟานเผือกนั้นจากหนองบัว๕ ลากลงไปจนถึงโพธิ์สามต้นก็หมดแรงไม่สามารถลากต่อไปได้ แล้วจึงไปกราบทูลพระเจ้าสุรอุทกกุมารให้ทรงทราบ พระเจ้าสุรอุทกกุมารจึงให้แล่เนื้อฟานนั้นไปถวาย ซึ่งเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก เนื้อฟานเผือกนั้นถึงแม้จะแล่เนื้อหนังอย่างไรก็ไม่มีวันหมด ประชาราษฎร์ชาวหนองหารหลวงทราบข่าวเช่นนั้นจึงพากันไปแล่เนื้อฟานเผือกนั้นมาแจกจ่ายกันกินอิ่มหนำสำราญอย่างทั่วถึง แม้ใช้เวลาแล่เนื้อฟานเผือกนั้นถึง ๓ คืน ๓ วัน ก็ไม่หมด ชาวบ้านชาวเมืองได้กินเนื้อฟานเผือกกันทั่วทั้งเมือง เหลือเว้นแต่พวกแม่ม่ายในเมืองเท่านั้นที่ไม่ได้กิน เพราะในยุคนั้นคนที่เป็นแม่ม่ายสังคมรังเกียจไม่มีใครนำเนื้อฟานไปให้
เมื่อตกเวลากลางคืนชาวเมืองนอนหลับเรียบร้อยแล้ว เหล่าเสนาของพญานาคจำนวนมากที่มีความโกรธแค้นที่เจ้านายของตนถูกชาวเมืองหนองหารยิงตาย จึงดำลงใต้ดินขุดคุ้ยเมืองหนองหารเพื่อให้ถล่มทลาย ชาวเมืองคนไหนที่กินเนื้อฟานเผือก พญานาคทั้งหลายก็พากันขุดทำลายบริเวณนั้นให้ถล่มจมลงกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับน้ำหนองหาร มีชาวเมืองต้องล้มตายเพราะถูกน้ำท่วมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
พระเจ้าสุรอุทกะถูกพญานาคจับตัวไว้ได้ ด้วยความโกรธแค้นที่พระเจ้าสุรอุทกะทำกับนายของตน จึงต้องการทรมานพระองค์ให้ได้รับทุกขเวทนาเสวยผลแห่งกรรมที่ได้ทำไว้อย่างสาสม จึงใช้นาคบาศผูกมัดตัวพระเจ้าสุรอุทกะแล้วลากไปทางทิศตะวันออก ฉุดลากเลี้ยวไปเลี้ยวมาตามยถากรรมตามแต่ใจจะนึกออกเพื่อให้พระเจ้าสุรอุทกะขาดใจตายอย่างทรมาน พอถึงน้ำโขงบริเวณปากน้ำก่ำพระเจ้าสุรอุทกะทนความเจ็บปวดจากการทรมานไม่ไหวขาดใจตายพอดี สถานที่ที่พญานาคทรมานโดยลากพระเจ้าสุรอุทกะไปนั้นได้กลายเป็นลำห้วยสายหนึ่งที่ไหลจากหนองหารสู่แม่น้ำโขง ได้มีชื่อเรียกขานลำห้วยสายนี้ว่า ห้วยน้ำรับกรรม คือเป็นลำห้วยที่เกิดจากการทรมานเพื่อให้พระเจ้าสุรอุทกะรับผลกรรมที่ได้กระทำไว้แก่พญาธนมูลนาค แต่ต่อมาเรียกสั้น ๆ ว่า น้ำกรรม ปัจจุบันสำเนียงภาษาเพี้ยนไปออกเสียงเป็น น้ำก่ำ จนถึงปัจจุบันนี้
พระเจ้าสุรอุทกะแห่งเมืองนครหนองหารหลวง มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือเจ้าชายภิงคาระและเจ้าชายคำแดง พระราชกุมารทั้ง ๒ ได้พาไพร่พลที่เหลือจากการจมน้ำตายไปอยู่ที่ดอนโพนเมือง๖ ริมฝั่งหนองหารทิศตะวันตกเฉียงใต้ หลังจากนั้น พระกุมารทั้ง ๒ พากันแสวงหาชัยภูมิที่จะสร้างเมืองขึ้นใหม่ เมื่อมองเห็นทำเลบริเวณภูน้ำลอด๗ เป็นชัยภูมิที่ดีควรตั้งเป็นบ้านเมืองได้ จึงตั้งเครื่องสักการะและตั้งสัตยาธิษฐานป่าวประกาศแก่เทพยดาทั้งหลายว่า “ข้าพเจ้าจะสร้างบ้านเมืองแปลงเมืองในที่นี้ขอเหล่าเทพเทวาผู้ดูแลรักษาถิ่นสถานแห่งนี้ จงอภิบาลคุ้มครองไพร่ฟ้าประชาชนชาวเมืองนี้ให้มีแต่ความสุขตลอดภายภาคเบื้องหน้าโน้นด้วยเทอญ” เมื่อจบคำอธิษฐาน พญานาคมีเกล็ดสีทองนามว่า สุวรรณนาค เป็นพญานาคเฝ้ารักษารอยพระพุทธบาทที่ภูน้ำลอดมานานแสนนาน ได้สำแดงตัวปรากฏแก่เจ้าชายภิงคาระ แจ้งให้เจ้าชายภิงคาระทราบว่าตนเป็นพญานาคที่รักษารอยพระพุทธบาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ภูน้ำลอดแห่งนี้ แล้วสุวรรณนาคได้นำน้ำเต้าทองอันประกอบด้วยน้ำหอมรดสรงอภิเษกเจ้าชายภิงคาระขึ้นเป็นเจ้าเมือง ขนานพระนามเจ้าชายว่าพระยาสุวรรณภิงคาระ พระองค์ทรงสร้างบ้านแปลงเมืองหนองหารหลวงขึ้นมาใหม่ตั้งแต่นั้นสืบมา
ส่วนเจ้าชายคำแดงพระอนุชานั้น เสนาอำมาตย์เมืองหนองหารน้อย๘ มาอัญเชิญไปเป็นกษัตริย์แทนเจ้าเมืองของตนที่ว่างลง ได้รับอภิเษกเป็น พระยาคำแดงเมืองหนองหารน้อย ได้สร้างบ้านเมืองปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ชาวหนองหารน้อยคู่กันมากับเมืองหนองหารหลวงสืบแต่นั้น
ภาพที่ ๑ รอยพระพุทธบาทที่ภูน้ำลอด
ภาพที่ ๒ ประสูติสุรอุทกราชกุมาร มีน้ำพุและพระขรรค์คู่พระบุญญาธิการ
ภาพที่ ๓ พระยาสุรอุทก เจ้าเมืองหนองหารหลวง ตรวจตราเขตแดน
ภาพที่ ๔ นายพรานเมืองหนองหารหลวงโก่งธนูยิงฟานด่อน
ภาพที่ ๕ บริวารพญานาคถล่มเมืองหนองหารหลวง
-------------------------------------------------------------
๔บ้านซ่งน้ำพุ ต.บ้านแป้น อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร ด้านตะวันออกของหนองหาร
๕บ้านหนองบัวสร้าง ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร และหนทางที่ลากฟานนั้นกลายเป็นลำห้วย เรียกว่าห้วยน้ำลาก
๖คุ้มวัดศรีโพนเมือง ในเมืองสกลนคร
๗บริเวณวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ในเมืองสกลนคร
๘หนองหารน้อย อำเภอกุมาภวาปี จังหวัดอุดรธานี
-------------------------------------------------------------
๓. ตำนานที่ ๒ เมืองหนองหารน้อย๙
(ท้าวผาแดง นางไอ่)
ในอดีตกาลนานมาแล้ว มีเมืองขอมเมืองหนึ่งชื่อว่า เอกชะฑีตานคร ทรงมีพระราชธิดาองค์หนึ่งนามว่า พระนางไอ่คำ พระนางทรงมีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก ซึ่งความงามของพระนางไอ่คำนี้ล่ำลือไปยังเมืองน้อยใหญ่ทั้งใกล้ทั้งไกล บรรดาเจ้าชายเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ เช่น เมืองสีแก้ว๑๐ เมืองฟ้าแดดสูงยาง๑๑ เมืองเชียงเหียน๑๒ และท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพง๑๓ ต่างก็หมายปองอยากได้พระนางมาเป็นคู่ครองของตน ความงามนี้ก็ยั่งล่ำลือไปถึงพญานาคเมืองบาดาล ทำให้ท้าวภังคี ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพญาศรีสุทโธนาคราชเจ้าเมืองบาดาล มีความปรารถนาที่จะชื่นชมความงามของนางไอ่คำด้วย
พระยาขอมแห่งเอกชะฑีตานคร โปรดให้จัดงานบุญบั้งไฟแสนขึ้นและได้ป่าวประกาศไปยังเมืองต่าง ๆ ให้ส่งบั้งไฟมาร่วมแข่งขัน เจ้าชายเมืองต่าง ๆ ได้ส่งบั้งไฟเข้าร่วมในงานนี้หลายหัวเมือง เพราะหวังจะได้ชมความงามของนางไอ่คำลูกสาวพระยาขอมนั้นเอง ท้าวผาแดงแห่งเมือง ผาโพง และท้าวภังคีพญานาคก็ได้แปลงกายเป็นเจ้าชายส่งบั้งไฟเข้าร่วมแข่งขันในงานครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
บั้งไฟที่ส่งเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ เมื่อแข่งขันแล้ว บั้งไฟของพระยาขอมบั้งไฟซุ ของท้าวผาแดงบั้งไฟแตก ส่วนของเจ้าชายเมืองอื่น ๆ ขึ้นหมดทุกบั้ง ทั้งท้าวผาแดงและท้าวภังคีเมื่อเห็นนางไอ่คำก็ตกหลุมรัก พระนางชนิดอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ในที่สุดวันหนึ่งท้าวผาแดงก็แอบไปได้เสียกับพระนางไอ่คำตกเป็นภรรยาสามีกันอย่างลับ ๆ
ฝ่ายท้าวภังคีพญานาค เมื่อกลับถึงเมืองบาดาลแล้วก็เฝ้าแต่คิดถึงนางไอ่คำ วันหนึ่งจึงได้พาบริวารขึ้นมาเที่ยวเล่นยังเมืองเอกชะฑีตานคร โดยท้าวภังคีแปลงกายเป็นกระรอกเผือกแขวนกระดิ่งทองคำที่คอ วิ่งขึ้นไปกระโดดไปมายังกิ่งไม้งิ้ว ตรงกับหน้าต่างปราสาทของนางไอ่คำ ทั้งนี้เพื่อจะได้ยลโฉมความงามของนางให้เต็มตา นางไอ่คำได้ยินเสียงกระดิ่งก็ออกมาดู ได้เห็นกระรอกเผือกกำลังกัดกินผลงิ้วอยู่ก็มีความปรารถนาอยากจะได้มาเลี้ยงดูเล่น ฝ่ายกระรอกเผือกก็ทำทีเป็นกินผลงิ้ว ขณะเดียวกันก็ชื่นชมความงามของพระนางไปด้วย มีกลอนผูกไว้ว่า “ทางอ้ายกระฮอก ปากก็กัดหมากงิ้ว ตาลิ่วเบิ่งผู้สาว”
นางไอ่คำได้สั่งให้พรานมาจับกระรอกเผือกให้ แต่นายพรานได้ใช้หน้าไม่ยิงกระรอกเผือกตาย ก่อนตายภังคีพญานาคได้สาปแช่งเอาไว้ว่า “ขอให้เนื้อของตนมีรสชาติอร่อยเป็นที่ติดใจของผู้ที่ได้กิน แล่เนื้อเถือหนังอย่างไรก็ไม่ให้มีวันหมด และหากชาวเมืองได้กินเนื้อของตน ก็ขอให้เกิดความหายนะแก่บ้านเมืองและผู้กินทุกคน” เป็นอัศจรรย์ดังคำอธิษฐาน นางไอ่ให้แจกเนื้อกระรอกนั้นแก่ชาวเมืองได้กินอย่างทั่วถึงเกือบจะทุกคน เว้นแต่พวกแม่ม่ายทั้งหลาย เพราะในยุคนั้นคนรังเกียจพวกแม่ม่าย จึงไม่มีใครอยากให้คนพวกนี้ได้กินของดีวิเศษ แม่ม่ายในยุคนั้นถือว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการดูถูกเหยียดหยามอย่างที่สุด
บริวารพญานาคนำข่าวร้ายนี้ไปบอกแก่พญาศรีสุทโธนาคราชผู้เป็นพระราชบิดายังเมืองบาดาล ศรีสุทโธนาคราชโกรธมาก เตรียมที่จะถล่มเมืองเอกชะฑีตานครให้ย่อยยับถล่มทลาย ข่าวชาวเมืองกินเนื้อกระรอกนี้ทราบไปถึงท้าวผาแดง ท้าวผาแดงเห็นเป็นเรื่องประหลาดสังหรณ์ใจว่าคงจะเกิดอันตรายแก่นางไอ่และชาวเมืองแน่นอน จึงพร้อมด้วยทหารคนสนิทชื่อท้าวสาม ขี่ม้ามาเพื่อจะมาช่วยนางไอ่คำยังเมืองเอกชะฑีตานคร
คืนนั้นเอง พญาศรีสุทโธนาคราชและบริวารก็ขึ้นมาถล่มเมือง เอชะฑีตานครให้ถล่มจมใต้ปฐพี เมืองถูกถล่มกลายเป็นหนองน้ำในพริบตา ใครที่กินเนื้อกระรอกด่อนตายจมน้ำจนหมด ไม่มีใครจะหนีรอดได้ ท้าวผาแดงขี่ม้ามาทันเหตุการณ์พอดี จึงรีบพานางไอ่ขี่ม้าออกจากเองด้วยความรีบเร่ง ไม่ทันแม้จะหยิบฉวยทรัพย์สมบัติติดตัวเลยสักชิ้น คว้าได้เพียงฆ้องมงคลลูกหนึ่งเท่านั้น ท้าวผาแดงจัดให้นางไอ่นั่งกลางและให้ท้าวสามนั่งหลังเพื่อคุ้มครองดูแลอยู่เบื้องหลัง
ฝ่ายเหล่าบริวารพญานาคเที่ยวค้นหานางไอ่ เห็นนางไอ่ขี่หลังม้าหนีไปกับท้าวผาแดง ก็ไล่กวดติดตามอย่างกระชั้นชิด เมื่อตามทันก็เอาหางสอดกระหวัดรัดเอานางไอ่ให้ตกลงมา พญานาคสอดรัดถูกฆ้องที่ท้าวสามสะพายไว้ในบ่า ดึงเอาฆ้องหลุดจากบ่าท้าวสาม ฆ้องถูกกระชากหลุดตกลงไป สถานที่ฆ้องตกไปนั้นเรียกว่า เวินฆ้อง มาจนถึงปัจจุบัน
พญานาคติดตามไปอย่างไม่ลดละ ใช้หางเกี่ยวสอดรัดถูกแขนของนางไอ่ กระชากเอาแหวนของนางตกลงไป สถานที่แหวนของนางไอ่ถูกกระชากตกนั้นเรียกว่า หนองแหวน จวบสมัยปัจจุบัน ท้าวสามตกจากหลังม้าและวิ่งตามม้าของท้าวผาแดงนางไอ่ไป ด้วยความเหนื่อยอ่อนจึงสะดุดล้มมาตลอด ตอนนี้ท่านผูกเป็นกลอนไว้ว่า “สามสะพาดล้ม ก้นขี่ทั่งทั้งยืน บักสามศักดิ์ทั้งขี่ดินเป็นห้วย” สถานที่นั้นถูกเรียกว่า ห้วยสามพะลาด ต่อมาเพี้ยนเป็นห้วยสามพาด๑๔
ในที่สุดพญานาคก็สามารถรัดเอานางไอ่ตกลงไปทำให้พระนางถึงแก่ความตาย เมื่อพระนางตายตกไปตามท้าวภังคีพญานาคผู้เป็นลูกชาย ศรีสุทโธนาคราชก็พอใจ ส่วนท้าวผาแดงและท้าวสามนั้นหาได้ทำร้ายแต่อย่างใด เพราะทั้งสองไม่ได้กินเนื้อกระรอกเผือกนั้น แต่ในที่สุดท้าวผาแดงก็ตรอมใจตายเพราะทนต่อแรงแห่งความรักความคิดถึงที่มีต่อไอ่คำไม่ได้ เมื่อเอกชะฑีตานครได้ถล่มลงด้วยฤทธิ์พญานาคจึงได้กลายเป็น หนองหารน้อย๑๕ มาจนถึงปัจจุบัน
ภาพที่ ๖ นางไอ่คำ ผู้มีสิริโฉมงดงามยิ่ง
ภาพที่ ๗ ภาพเกาะสลักปราสาทผึ้งภังคีพญานาคแปลงเป็นกระรอกด่อน
-------------------------------------------------------------
๙มหาสิลา วีรวงศ์, “ประวัติความเป็นมาของบั้งไฟและบุญบั้งไฟ.” อ้างใน หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระสังฆราชลาว. หน้า ๘๙-๙๑. (ถอดจากภาษาลาวต้นฉบับนครเวียงจันทน์)
๑๐บ้านสีแก้ว จังหวัดร้อยเอ็ด มีพระธาตุสีแก้วที่เก่าแก่อายุรุ่นราวเดียวกับพระธาตุพนม
๑๑บ้านฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์
๑๒บ้านเชียงเหียน จังหวัดมหาสารคาม
๑๓สุรศักดิ์ พิมเสน. “ย้อนตำนานรักท้าวผาแดง.” สารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑ (มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒) : ๑๑
๑๔อยู่ระหว่างเส้นทางจังหวัดอุดรธานีกับอำเภอกุมภวาปี
๑๕อยู่ในเขตจังหวัดอุดรธานี และที่อำเภอบ้านดุง ยังปรากฏมีรูปพญานาค จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอุดรธานีเคารพนับถือกราบไหว้
-------------------------------------------------------------
๔. วิเคราะห์ตำนานเมืองหนองหาร
ในบทวิเคราะห์ตำนานเมืองหนองหารนี้ ถ้าถือตามการจัดแบ่งกลุ่มขององค์การยูเนสโกแล้ว ถือว่าเนื้อหาจัดอยู่ในวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ผู้เขียนมุ่งเน้นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) ที่ได้ค้นคว้าจากข้อมูลทุติยภูมิเป็นส่วนใหญ่ นำเสนอในเชิงตีความและวิจารณ์ (Critical Interpretation) เป็นสำคัญ
ตำนานอุรังคธาตุพระธาตุพนมนี้ เป็นเอกสารเก่าแก่ที่มีคุณค่าในการศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์และโบราณคดีของบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมาก ถึงแม้ตำนานนี้จะเขียนขึ้นหลังเหตุการณ์จริง และมีลักษณะคล้ายนิยายปรัมปราก็ตาม แต่ถ้าพิจารณาจากเนื้อเรื่องจริง ๆ แล้วพบว่ามีข้อมูลที่เป็นเค้าเงื่อนที่เป็นข้อเท็จจริงรวมอยู่ด้วย ยิ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบกับหลักฐานทางโบราณคดีจากโบราณวัตถุและโบราณสถานแล้ว สามารถสมมติอย่าง คร่าว ๆ กว้าง ๆ ถึงประวัติการโยกย้ายถิ่นฐานความเชื่อ การเผยแผ่และประดิษฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมของบ้านเมืองโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะกลุ่มชนแถบลุ่มน้ำโขงได้เป็นอย่างดี๑๖
ตำนานเหล่านี้จัดเข้าใจ Mythology คือเป็นเรื่องราวเก่าแก่ที่ว่าด้วยความเชื่อถือของชนชาติหนึ่ง ๆ ซึ่งแต่ละเชื้อชาติแต่ละเผ่าพันธุ์ก็มีเรื่องราวเป็นของตนเอง ซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันบ้างตามแต่กรณีและสภาวะแวดล้อม ตำนานทั้งหลายจึงหนีไม่พ้นเรื่องเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ชนชาตินั้น ๆ เคารพนับถือ และมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพิธีกรรมทางศาสนา คือเป็นเรื่องราวที่เกิดจากแรงบันดาลใจและอิทธิพลความเชื่อทางศาสนา มีการกล่าวถึงเทพเจ้าและเทพีต่าง ๆ ตลอดถึงการผจญภัยของผู้ที่ตนเห็นสมควรจะยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของตนได้ เช่น เป็นกษัตริย์หรือตระกูลที่มีชื่อเสียงสำคัญของกลุ่มพวกตน๑๗ เป็นต้น ฉะนั้น ตำนานเหล่านี้จึงมีความลี้ลับของธรรมชาติ ถ้าหากว่าเราไม่รู้เรื่องลี้ลับของเทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเกิดจากความใกล้ชิดแนบแน่นกับศาสนา หรือวีรบุรุษของคนในตำนานเหล่านี้แล้ว เราก็จะไม่สามารถเข้าใจวรรณกรรมหรือศิลปะอันยิ่งใหญ่ของชนชาติหรือท้องถิ่นนั้น ๆ ได้เลย เรื่องราวจากตำนานเหล่านี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างสลัก และศิลปินคิดค้นงานของตนเองขึ้นมาได้จนเราสามารถเรียนรู้อารยธรรม ความคิด จินตนาการ ปรัชญา ศาสนา สังคม ประวัติศาสตร์ของชนชาติหรือท้องถิ่นนั้น ๆ ได้จากตำนานเหล่านี้
บทวิเคราะห์ตำนานนี้ ผู้เขียนได้นำมาตีความให้เหมาะกับสังคมร่วมสมัย โดยต้องการให้เห็นศาสตร์และแง่มุมต่าง ๆ ในตำนาน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสารัตถะของตำนานมากกว่าที่จะหาความสุนทรีย์ทางวรรณกรรมอย่างเดียว เพราะจะทำให้เรามีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับศิลปกรรม วัฒนธรรม ประเพณีในถิ่นนั้นได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการวิจารณ์ตำนานวรรณกรรมต่าง ๆ นั้น ก็อาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่แง่มุมและหลักฐานที่ผู้นั้นสำรวจพบ การนำเสนอของผู้เขียนจึงเป็นการเอาเหตุผลและหลักฐานทางวิชาการมานำเสนอให้ช่วยกันพิจารณา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ต้องถือเป็นข้อยุติแต่อย่างใด ทุกท่านมีสิทธิ์ที่จะวิจารณ์และไม่เห็นด้วยในหลักฐานข้อมูลนี้อย่างเสรี การที่หลายฝ่ายมีความคิดที่แตกต่างกันไปในแง่มุมต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยนำไปสู่ความสนใจศึกษาค้นคว้าให้เกิดความสมบูรณ์ในเชิงวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ยิ่ง ๆ ขึ้น
-------------------------------------------------------------
๑๖รศ. ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม, แอ่งอารยธรรมอีสาน แฉหลักฐานโบราณคดี พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๓๘), หน้า ๓๔.
๑๗ผศ. มาลิทัต พรหมทัตเวที, เทพนิยายที่เป็นพื้นฐานของวรรณคดี, (กรุงเทพฯ : ไม่ปรากฏที่พิม์), หน้า ๒-๗.
-------------------------------------------------------------
๔.๑ ระบบความเชื่อในตำนาน
จากตำนานหนองหารนี้ มีเรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคทั้ง ๒ ตำนานซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชนที่มีการบูชาพญานาคมาก่อน ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาแพร่หลายจากกลุ่มน้ำชี ผ่านหนองหารหลวงเข้ามา ประชาชนส่วนมากก็หันมานับถือพระพุทธศาสนาแต่ก็ยังรักษาความเชื่อดั้งเดิมของตนคือให้ความสำคัญและเคารพนับถือพญานาคอยู่ พญานาคจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควบคู่ไปกับพระพุทธศาสนา ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนารุ่นหลังจึงมีปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคอยู่เป็นจำนวนมาก ในพระพุทธประวัติมีตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นจิก มีพญานาคชื่อว่ามุจลินท์ออกมาแผ่พังพานป้องกันลมและฝนแก่พระบรมศาสดา๑๘ และเรื่องพญานาคมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาปลอมตัวเป็นมนุษย์บวชในพระพุทธศาสนาแต่ถูกพระพุทธองค์บัญญัติห้ามบวช เพราะนาคเป็นสัตว์เดรัจฉานไม่สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งคุณวิเศษในพุทธศาสนาได้ พญานาคจึงได้ขอฝากชื่อของตนไว้เป็นอนุสรณ์ ใช้เรียกขานกุลบุตรผู้เลื่อมใสขออุปสมบทในพุทธศาสนาหรือผู้เตรียมตัวจะบวชพระว่า นาค มีธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน๑๙
เรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคนี้ เป็นเรื่องราวที่ได้รับความนิยมกันมากในบ้านเมืองสองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่หนองแสในเขตมณฑลยูนนานซึ่งเป็นต้นน้ำมาจนถึงเมืองเขมรปากน้ำโขง กลุ่มชนเหล่านี้มีลัทธิบูชาพญานาค เชื่อกันว่าพญานาคเป็นผู้บันดาลให้เกิดแม่น้ำลำคลอง เกิดความสมบูรณ์พูนสุขแก่บ้านเมืองและอาจบันดาลภัยพิบัติให้เกิดน้ำท่วมล่มจมแก่บ้านเมืองได้ ถ้ากษัตริย์หรือเจ้าเมืองคนไหนประพฤติผิดในการปกครอง หรือประชาชนไรศีลธรรมจะได้รับการลงโทษจากพญานาคทำให้บ้านเมืองพิบัติล่มจมเป็นหนองเป็นบึงไป ดังเช่นเมืองหนองหารหลวง และเมืองหนองหารน้อยเป็นต้น๒๐
คติความเชื่อในวรรณคดีว่าพญานาคเป็นสัตว์ที่มีอยู่จริงนี้ รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม วิเคราะห์และแปลความหมายตามหลักมนุษยวิทยาได้ ๒ ลักษณะคือ ๑. นาคในลักษณะที่เป็นกลุ่มชนดั้งเดิม ๒. นาคในลักษณะที่เป็นลัทธิหนึ่งในทางศาสนา
นาคในลักษณะที่ ๑ สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มชนที่เรียกตัวเองว่าพวกนาค พวกนาคเป็นกลุ่มคนที่ถิ่นฐานอยู่ในเขตหนองแสต้นแม่น้ำโขง ซึ่งต่อมาได้ถูกรุกรานที่ทำมาหากินจึงอพยพเคลื่อนย้านลงมาตามลำลุ่มแม่น้ำโขงเป็นกลุ่ม ๆ มาตั้งหลักแหล่งยังลุ่มน้ำต่าง ๆ ที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง ปรากฏในตำนาน ๒ กลุ่มใหญ่ คือตำนานสุวรรณโคมคำและตำนาน สิงหนวัติ อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในเขตลุ่มน้ำโขงตอนบนคือตั้งแต่เชียงราย หลวงพระบางจนถึงจังหวัดเลย ในตำนานอุรังคธาตุ เป็นกลุ่มที่อพยพอยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนล่างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ตั้งแต่จังหวัดหนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี๒๑
นาคในลักษณะที่ ๒ หมายถึงระบบความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชนที่อยู่ในลุ่มน้ำโขงตั้งแต่หนองแสลงมา เป็นลัทธิเกี่ยวกับการบูชานาค ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมอินเดียคือพระพุทธศาสนาและพราหมณ์แผ่เข้าไปในกลุ่มชนนั้น ลัทธิบูชานาคก็ได้ผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาใหม่นี้ ดังเรื่องพญานาคในพระพุทธศาสนาดังกล่าวมาแล้ว และเรื่องพระอิศวรและพระนารายณ์รบกับพญานาคในศาสนาพราหมณ์ ล้วนแต่แสดงถึงอิทธิพลของศาสนาใหม่ที่มีต่อความเชื่อของกลุ่มชนดั้งเดิม คือความเชื่อดั้งเดิมถูกผนวกมาเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อของศาสนาใหม่ด้วย บรรดานาคได้กลายมาเป็นสัตว์ที่มีคุณธรรมเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องรักษาพุทธศาสนาในที่สุด๒๒
ในลักษณะที่ ๒ นี้ เป็นความเชื่อมนุษย์โบราณที่เกิดจากการนับถือสัตว์ต่าง ๆ ว่าเป็นเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในเรื่องความเชื่อที่กลายเป็นศาสนาของโบราณนั้น ในระยะแรกเชื่อในเรื่องธรรมชาติ เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ ลม ฟ้าร้อง ฯลฯ ว่าเป็นเทพเจ้า เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจลึกลับอยู่เบื้องหลัง ที่สามารถบันดาลให้เกิดภัยพิบัติ ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นแก่มนุษย์ได้๒๓ ต่อมาได้พัฒนาความเชื่อมานับถือพวกสัตว์เป็นเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ เช่น พวกชาวอียิปต์และชาวอินเดียนับถือวัวว่าเป็นเทพเจ้า อินเดียถือว่าวัวเป็นพาหนะของพระอิศวร พวกทัสยุนับถืองู๒๔ พวกจีนนับถือพญามังกร ไทยนับถือพญาครุฑ เมื่อพิจารณาการนับถือพวกสัตว์เหล่านี้ อาจเพราะศรัทธาในลักษณะที่เป็นความดีและมีประโยชน์ต่อมนุษย์ เช่นวัวให้น้ำนมและไถนา เป็นต้น ซึ่งบางอย่างเป็นเรื่องของความกลัว และปัจจุบันความเชื่อและศาสนากลายมาเป็นเรื่องของสัจธรรมเป็นเรื่องของเหตุผลและปัญญา ระบบความเชื่อจึงมีวีวัฒนาการมาโดยลำดับ ระบบความเชื่อที่เกิดเป็นลัทธิบูชาพญานาคน่าจะเกิดในยุคสมัยนี้ (๔,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ)
ในตำนานเมืองหนองหารทั้ง ๒ ตำนานนี้เกี่ยวพันกับพญานาค ตำนานเมืองหนองหารหลวงมีพญานาคชื่อว่าธนมูลนาคเป็นผู้ถล่มทำลายเมืองหนองหารหลวง ให้กลายเป็นน้ำหนองหารอันกว้างใหญ่ และมีสุวรรณนาคผู้พิทักษ์รักษารอยพระพุทธบาทที่ภูน้ำลอด ซึ่งเป็นผู้อภิเษกเจ้าชายภิงคาระซึ่งมีฐานะเป็นลูกแห่งกษัตริย์ขอมขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่ ส่วนในตำนานเรื่องเมืองหนองหารน้อย มีภังคีซึ่งเป็นพระราชโอรสและศรีสุทโธนาคราชแห่งเมืองบาดาลจากทั้ง ๒ เรื่องจะเห็นถึงอำนาจและอิทธิฤทิ์ของพญานาคที่สามารถจะบันดาลให้เกิดความหายนะแก่มนุษย์ได้ ถ้าทำให้พญานาคนั้นโกรธและไม่พอใจ จึงเกิดลัทธิบูชาพญานาคขึ้นเพื่อ มิให้พญานาคโกรธจนสร้างความฉิบหายแก่มนุษย์ดังกล่าวแล้ว
เกี่ยวกับเรื่องพญานาคที่เป็นความเชื่อนี้ จะขอนำเสนอเพื่อให้ช่วยกันพินิจพิจารณา เพื่อจะทำให้การวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้สมบูรณ์ครอบคลุมทุกด้านยิ่งขึ้น
ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มีข้อความที่กล่าวถึงพญานาคที่เป็นความเชื่อนี้ไว้เช่นกัน ตรงกับเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำแม่น้ำโขงในเขตอำเภอโพนพิสัย อำเภอบึงกาฬ อำเภอรัตนวาปี และอำเภอต่าง ๆ ในเขตลำน้ำโขงจังหวัดหนองคาย คือจะมีลูกไฟมหัศจรรย์พุ่งขึ้นจากลำน้ำ เหมือนกับมีใครยิงลูกไฟขึ้นมาจากลำน้ำโขงนั้น ซึ่งคนเรียกขานดวงไฟที่พุ่งขึ้นมานี้ว่า บั้งไฟพญานาค เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๑๑ และแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งตรงกับวันออกพรรษาของทุกปีเท่านั้น
ลักษณะของบั้งไฟพญานาค เป็นลูกไฟสีแดงอมชมพู ขนาดของลูกไฟที่เกิดขึ้นมี ๓ ขนาด คือ บางลูกมีขนาดใหญ่เท่าผลส้ม ขนาดกลางเท่าไข่ไก่ และขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือ เวลาที่เกิดลูกไฟนี้จะเริ่มตั้งแต่ ๑ ทุ่มไปจนถึงตีสอง แต่ละลูกใช้เวลาประมาณ ๓-๗ วินาที พุ่งขึ้นสู่อากาศสูงประมาณ ๒๐-๕๐ เมตร เมื่อลูกไฟพุ่งขึ้นสูงสุดตามที่กล่าวแล้ว จะหายไปในอากาศโดยไม่มีโค้งตกลงมาเหมือนลูกไฟทั่วไป เป็นที่น่าสังเกตคือลูกไฟนั้นไม่มีสะเก็ด ไม่มีลำแสง ไม่มีเสียง ไม่มีเปลวควันเหมือนลูกไฟทั่วไป ในคัมภีร์กล่าวถึงการที่ลูกไฟของพญานาคที่พ่นออกมานั้นไม่ตกลงในน้ำหรือแผ่นดิน เพราะอานุภาพของไฟนี้มีพลังความร้อนยิ่งกว่าไฟทั้งหลาย กล่าวว่าถ้าตกลงในพื้นดิน หรือแม่น้ำย่อมทำให้เกิดหายนะอย่างใหญ่หลวง คือถ้าตกลงในแม่น้ำจะทำให้แม่น้ำนั้นเหือดแห้งไปภายในพริบตา
สถิติของดวงไฟที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ นั้นมีมากถึง ๒๓๐๒ ลูก คือที่อำเภอสังคม ๒๘ ลูก อำเภอศรีเชียงใหม่ ๑๙ ลูก อำเภอเมืองหนองคาย ๖๙๑ ลูก อำเภอโพนพิสัย ๗๐๐ ลูก อำเภอปากคาด ๒๗๒ ลูก อำเภอบุ่งคล้า ๔ ลูก อำเภอบึงกาฬ ๑๐๐ ลูก อำเภอบึงโขงหลง ๖ ลูก รัตนวาปี ๕๐๐ ลูก และในปี ๒๕๔๒ ปีประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าลูก๒๕
ฉะนั้นเหตุการณ์บั้งไฟพญานาคนี้จึงเป็นที่สนใจของชาวไทยและชาวต่างประเทศจำนวนมาก ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวพากันไปชมลูกไฟประหลาดนี้กันอย่างล้นหลาม ซึ่งแน่นอนเมื่อเห็นด้วยตาตนเองแล้ว ชนเหล่านั้นก็เกิดแนวคิดแตกต่างกันออกไป พวกหัวสมัยใหม่ก็วิจารณ์ในลักษณะเชิงวิชาการเป็นวิทยาศาสตร์ไปว่า ลูกไฟนั้นเกิดจากการรวมตัวของก๊าซหรือแร่ธาตุ ก๊าซหรือแร่ธาตุเหล่านี้เมื่อรวมตัวกันแล้วจะมีแรงอัดพุ่งขึ้นเหนือน้ำ ซึ่งในจุดนี้ก็มีช่องโหว่สามารถแย้งขึ้นได้เช่นกันว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมเหตุการณ์เหล่านี้จึงไม่เกิดขึ้นในวันอื่นทั่ว ๆ ไป เพราะเหตุไรจึงเจาะจงเกิดเฉพาะวันที่ตรงกับวันออกพรรษาเท่านั้น ในคำถามเหล่านี้เขาเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะตอบได้อย่างกระจ่างชัด
อีกพวกหนึ่งนั้น มีความเชื่อว่าเป็นลูกไฟที่พญานาคพ่นออกมาจริง และพญานาคมีตัวตนจริง ๆ ส่วนพวกสุดท้ายนั้นมีลักษณะความเชื่อที่เป็นกลางคือ เชื่อครึ่งหนึ่งไม่เชื่อครึ่งหนึ่ง ส่วนผู้เขียนเมื่อไปดูมาแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ จะไม่ขอวิจารณ์ว่าพญานาคมีหรือไม่มี แต่เมื่อพบการกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาซึ่งได้บันทึกเล่าขานสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน แต่มีความสอดคล้องตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ช่างเป็นเรื่องที่มี เค้ามูลและความลึกลับมาตั้งแต่อดีตกาล ที่ยังไม่มีใครค้นคว้าพิสูจน์ให้เกิดความจริงได้กระจ่างชัด ทุกคนสามารถที่จะตีความวิเคราะห์ความหมายและเหตุการณ์นี้ตามแนวคิดและเหตุผลของตนได้ทุกแง่ทุกมุม การที่จะปฏิเสธว่าเป็นเรื่องเหลวไหล โดยที่เรายังไม่ได้พิสูจน์ทดลองจนได้รับความกระจ่างชัดด้วยตนแล้วพลันด่วนสรุปและปฏิเสธไปอย่างง่าย ๆ นั้น ผู้เขียนก็มองว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าจะถูกต้องเช่นกัน ฉะนั้น ผู้ที่เป็นปัญญาชนจึงควรรับฟังเพื่อนำไปพิจารณาให้เกิดปัญญาได้ทุกแง่ทุกมุม จนประจักษ์ชัดด้วยตนเองในที่สุด
ในเรื่องบั้งไฟพญานาคนี้ ศูนย์ประชามติฯ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ หัวข้อ “บั้งไฟพญานาคให้คุณค่าอย่าไรต่อสังคมไทย” โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ๑,๔๙๔ คน สำรวจพบว่า ร้อยละ ๘๖.๙๐ เห็นว่าเรื่องบั้งไฟพญานาคเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว มีคุณค่าในทางเศรษฐกิจ ร้อยละ ๘๕.๑๐ เห็นว่าทำให้จังหวัดที่จัดงานมีรายได้เข้าจังหวัด ร้อยละ ๕๒.๕๐ เห็นว่าทำให้สนใจเรื่องเหนือธรรมชาติมากขึ้น ร้อยละ ๔๘.๓๐ เห็นว่าทำให้เห็นถึงความสำคัญของพุทธศาสนา ร้อยละ ๔๖.๙๐ เห็นว่าทำให้สนใจศึกษาค้นคว้าความรู้ทางพุทธศาสนามากขึ้น ร้อยละ ๔๕.๐๐ เห็นว่าทำให้มีความมั่นใจในการทำความดีมากขึ้น ส่วนความเชื่อในเรื่องพญานาคมีจริงหรือไม่มีจริง ร้อยละ ๕๘.๖๐ ไม่แน่ใจว่าพญานาคมีจริงหรือไม่มีจริง ร้อยละ ๒๑.๔๐ เชื่อว่าพญานาคมีจริง ร้อยละ ๑๘.๙๐ เชื่อว่าพญานาคไม่มีจริง๒๖
ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาพวกนาคนี้ถือว่าจัดอยู่ในพวกเทพที่มีอิทธิฤทธิ์และเป็นผู้มีฤทธิ์เดชมากที่สุดพวกหนึ่ง๒๗ สามารถแปลงกายเป็นอะไรก็ได้ เมื่อมาเที่ยวเมืองมนุษย์ก็จะแปลงเป็นมนุษย์ไปเที่ยวปะปนในเทศกาลงานต่าง ๆ ซึ่งทำให้ไม่สามารถรู้ว่าคนนี้เป็นพญานาคแปลงกายมา ในคัมภีร์ธรรมบทซึ่งแต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์กล่าวไว้ว่า พวกพญานาคอยู่ในเพศของตนเฉพาะในเวลาเกิด เวลาลอกคราบ เวลาหลับสนิท เวลาเสพเมถุนธรรมกับนางนาคผู้มีชาติเสมอกัน และในเวลาตาย นอกจากเวลาที่กล่าวมานี้แล้ว ก็มักจะแปลงร่างเป็นมาณพหนุ่มรูปงาม อยู่ในเพศมนุษย์เป็นส่วนมาก
สรุปแล้ว เรื่องพญานาคที่เป็นความเชื่อนี้ แม้วิทยาการเจริญก้าวหน้าไปมากแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถหาหลักฐานมาอ้างอิงเพื่อหักล้างความเชื่อดังเดิมของกลุ่มชนที่มีมาแต่โบราณนี้ได้ แม้ปัจจุบันก็ต่างวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ในลักษณะต่าง ๆ นานาแตกต่างกันออกไป ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายแต่อย่างใด ถ้าไม่เชื่อว่าพญานาคมีจริงจากคติโบราณ เราก็สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องทางภูมิปัญญาของคนโบราณที่จูงใจให้คนในสังคมมีลักษณะความเชื่อไปในทิศทางเดียวกัน ความเชื่อนี้ได้ก่อให้เกิดศิลปวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเจริญทางอารยธรรม และสร้างความเป็นปึกแผ่นสงบสันติสุขแก่สังคมในบูรพกาลเรื่อยมาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
-------------------------------------------------------------
๑๘สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พุทธประวัติเล่ม ๑ พิมพ์ครั้งที่ ๕๒ (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘), หน้า ๕๑.
๑๙วรรณะ, พระพุทธศาสนากับประเพณีไทย (กรุงเทพ: อมรการพิมพ์, ๒๕๒๙), หน้า ๒๔.
๒๐รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม, แอ่งอายธรรมอีสานฯ, หน้า ๑๓.
๒๑รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม, แหล่งอารยธรรมอีสานฯ, หน้า ๑๑-๑๒.
๒๒เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๓.
๒๓เสฐียร พันธรังษี, ศาสนาโบราณ พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๑๘.
๒๔ผศ.ดร. ทองหล่อ วงศ์ธรรมมา, ปรัชญาตะวันออก (กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์. ๒๕๓๖), หน้า ๒๕.
๒๕ไตรรัตน์ สุนทรประภัสสร์, เดลินิวส์วาไรตี้. เดลินิวส์ (๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๒) : หน้า ๕.
๒๖ข่าวสด (๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๕) : หน้า ๑๒.
๒๗อาฏานาฏิยปริตร ปจฺฉิมสฺมึ ทิสาภาเค สนฺติ นาคา มหิทฺธิกา. แปลว่า ในทิศตะวันตก เป็นทิศที่อาศัยอยู่ของเหล่าพวกนาคที่มีฤทธิ์เดชมาก
-------------------------------------------------------------
๔.๒ การเมืองการปกครอง
จากตำนานเมืองหนองหารนี้ จะเห็นระบบการเมืองการปกครองในยุคนั้นว่า หัวเมืองทั้งหลายมีลักษณะปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระ มีสภาพบ้านเมืองที่เป็นเมืองเล็กเมืองน้อยกระจายกันอยู่โดยทั่วไปตามแถบลุ่มน้ำ และมีทั้งการปกครองแบบราชาธิปไตย เป็นหัวเมืองใหญ่ที่มีอิทธิพลทางการเมืองขณะนั้นอย่างมาก๒๘
ที่ปรากฏในตำนานที่ ๑ มีอินทปัตถนคร (ขอม) หนองหารหลวง (สกลนคร) หนองหารน้อย (อุดรธานี) เมืองศรีโคตรบูร (นครพนม) ทวารวดี
ในตำนานที่ ๒ มีเมืองเอกชะฑีตานคร (ขอม) เมืองสีแก้ว (ร้อยเอ็ด) เมืองฟ้าแดดสูงยาง (กาฬสินธุ์) เมืองเชียงเหียน (มหาสารคาม) เมืองผาโพง (สันนิษฐานว่าเพชรบูรณ์)
เมืองที่กล่าวถึงในตำนานหนองหารหลวงนี้มีไม่มาก คิดว่ากล่าวถึงเฉพาะหัวเมืองที่สำคัญซึ่งมีความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกัน และที่มีอำนาจในการปกครองหัวเมืองอื่น ๆ เท่านั้น ในบรรดาหัวเมืองเหล่านี้ เมืองที่สำคัญในตำนานคือเมืองหนองหารหลวง เมืองหนองหารหลวงอยู่ในฐานะเป็นเมืองลูกหลวงที่เป็นเมืองเอก เป็นศูนย์การปกครองดูแลหัวเมืองใหญ่ที่ขึ้นตรงต่อเมืองหลวงของขอมคืออินทปัตถนคร หัวเมืองต่าง ๆ เหล่านี้จึงอยู่ในฐานะเมืองประเทศราชที่แต่ละเมืองจะต้องส่งบรรณาการคือดอกไม้เงินดอกไม้ทองต่อกษัตริย์เมืองอินทปัตถนครอยู่เสมอ การที่หัวเมืองเหล่านี้ส่งบรรณาการแก่อินทปัตถนคร ยังแสดงให้เห็นถึงการที่ขอมมีพระราชอำนาจการปกครองแผ่คลุมมาจนถึงบริเวณหัวเมืองแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างด้วย เพราะความที่เมืองขอมอยู่ห่างไกลจึงสร้างเมืองหนองหารหลวงขึ้นเป็นศูนย์บัญชาการตรวจตราดูแลภูมิภาคเหล่านี้แทนตน ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงบุญญาธิการของกษัตริย์เมืองหนองหารหลวงให้ยิ่งกว่าบรรดาหัวเมืองกษัตริย์ทั้งหลาย เพื่อต้องการแสดงถึงอำนาจปกครองที่มีทั้งพระเดชพระคุณพร้อมกัน การกล่าวถึงเหตุการณ์น้ำพุผุดขึ้นขณะประสูติพระเจ้าอุทกกุมารกษัตริย์เมืองหนองหารหลวง เป็นปริศนาที่ต้องการบอกถึงพระราชอำนาจในส่วนพระคุณที่ปกครองบ้านเมืองและหัวเมืองน้อยใหญ่ในเขตปกครองด้วยสันติวิธี จนได้รับความสุขสงบร่มเย็นทั่วหน้ากัน หรือต้องการแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินและความอยู่ดีกินดีของชาวเมืองด้วย เปรียบเสมือนกันน้ำตกที่เป็นสัญลักษณ์ของความเย็น พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าพุ่งแผ่กระจายไปในทิศานุทิศ ส่วนที่กล่าวถึงการถือพระขรรค์ออกมาพร้อมในขณะประสูติ เป็นปริศนาแสดงถึงอำนาจที่เป็นฝ่ายพระเดช แสดงถึงความกล้าหาญชาญชัยกับการต่อสู้กับอริราชศัตรู เป็นการข่มขวัญหัวเมืองทั้งหลายไม่ให้คิดการแข็งข้อขึ้นต่อสู้กับเมืองหนองหารหลวงนั้นเอง แต่ในที่สุดเมืองหนองหารหลวงก็ต้องพ่ายแพ้แก่ธนมูลนาค ซึ่งอาจตีความได้ว่า เป็นการพ่ายแพ้ของขอมต่อฝ่ายชนชาติดั้งเดิมที่ตั้งรกรากอยู่ก่อนแต่ถูกขอมรุกรานแย่งชิงเอาไปในภายหลัง จนต้องถอยร่นไปอยู่ในถิ่นที่อื่น (พญานาค น่าจะหมายถึงชนชาติลาว) เมื่อได้โอกาสจึงได้แย่งชิงอำนาจกลับคืนมาได้ การกล่าวถึงการล่มสลายของกษัตริย์ขอมที่มีอำนาจทางการเมืองมายาวนานอย่างหนองหารหลวง จึงเป็นการประกาศชัยชนะของชนชาติดั้งเดิมคือ เชื้อชาติลาว ต่อมาได้แต่งเป็นตำนานบอกกล่าวเล่าขานสืบ ๆ กันมาด้วยความภาคภูมิใจ ฉะนั้น การต่อสู้กันระหว่างขอมและพญานาคในตำนานนี้ จึงน่าแสดงถึงการต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองการปกครองระหว่างชนชาติดั้งเดิมซึ่งน่าจะหมายถึงชนชาติลาวและชนชาติเขมรมากกว่า
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชุมชนที่จัดว่าเป็นศูนย์กลางทางการเมืองวัฒนธรรมที่สำคัญในภาคอีสานในระยะนั้นก็คือเมืองพิมายและหนองหารหลวง พิมายเป็นศูนย์กลางการติดต่อระหว่างดินแดนอีสานกับอาณาจักรกัมพูชาและบ้านเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง ส่วนหนองหารหลวงเป็นศูนย์กลางติดต่อระหว่างอาณาจักรกัมพูชากับบ้านเมืองที่อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตั้งแต่เวียงจันทน์ขึ้นไปจนถึงเวียดนามและจัมปา ตำนานนี้จึงบอกให้ทราบว่าในยุคนั้นกัมพูชา (ขอม) มีอำนาจทางการเมืองยิ่งใหญ่เกรียงไกรแผ่คลุมอาณาจักรแถบนี้มาก่อน เมืองเล็กเมืองน้อยต้องสวามิภักดิ์และขึ้นตรงต่อกัมพูชา ซึ่งอินทปัตถนครคือชื่อเมืองที่เป็นเสมือนตัวแทนเมืองหลวงของกัมพูชานั้น เมื่อขอมมีอำนาจเช่นนั้น การที่จะมีเมืองที่แข็งข้อขึ้นสักเมืองหนึ่งย่อมทำให้ไม่เป็นที่พอใจของกษัตริย์ขอมเป็นธรรมดา เพราะนั่นแสดงถึงอำนาจที่จะต้องสูญเสียไป และเป็นเหตุให้หัวเมืองอื่นเอาแบบอย่าง ทำการแข็งข้อต่อตนในที่สุด พระเจ้าสุรอุทกกุมารจึงไม่พอพระทัยที่ธนมูลนาคซึ่งไม่ใช่เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ของตนมาเป็นคู่แข่งและมีอำนาจเท่าเทียมกับตน จึงต้องปราบปรามลงเสีย แต่เนื่องจากฝ่ายหลังมีบารมีไพร่พลทัดเทียมกันจึงไม่สามารถปราบปรามลงได้ การล่มสลายของหนองหารลวงจึงหมายถึงการพ่ายแพ้ต่อกลุ่มชนพวกนาคซึ่งก็คือชนเชื้อชาติลาว ชนเชื้อชาติลาวจึงกลับมามีอิทธิพลทางการเมืองในภูมิภาคนี้สืบต่อจากขอมตั้งแต่นั้น ขอมและลาวต่างต่อสู้กันและกัน เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองในหัวเมืองแถบลุ่มแม่น้ำโขงมาโดยตลอด เพื่อหวังช่วงชิงความเป็นใหญ่แห่งอาณาจักรและแผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรมประเพณีของตนสู่หัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งหลายในภูมิภาคแห่งนี้
ในตำนานที่ ๒ การที่นางไอ่คำและภังคีพญานาคไม่สามารถที่จะรักกันได้ เพราะมีช่องว่าระหว่างเชื้อชาติเป็นอุปสรรคกีดขวางคือระหว่างเชื้อชาติเขมรและเชื้อชาติลาว เพราะสองชนชาตินี้กำลังแข่งขันแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกันและกันอยู่ในขณะนั้น การที่นางไอ่ให้นายพรานยิงกระรอกคือภังคีพญานาคแปลงกายมานั้น หมายถึงการปฏิเสธความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างเมืองขอมและลาวนั้นเอง การฆ่ากระรอกนั้นตายจึงเท่ากับเป็นการเบียดเบียนย่ำยีพวกฝ่ายนาคให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจยิ่งขึ้น พญาศรีสุทโธนาคราชจึงเป็นตัวแทนของฝ่ายลาวที่จะกอบกู้ศักดิ์ศรีของตนคืนมา ได้พาไพร่พลโค่นอำนาจของขอมลงจนสำเร็จในที่สุด พญาศรีสุทโธนาคราชจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของเชื้อชาติลาวนั้นเอง การที่พญาศรีสุทโธนาคราชไม่ทำลายท้าวผาแดงและท้าวสามซึ่งมาช่วยนางไอ่หนีไปนั้นเพราะท้าวผาแดงและท้าวสามไม่ใช่ชนเชื่อชาติเขมร ซึ่งเป็นคู่ปฏิปักษ์ทางการเมืองของตนนั่นเอง
ความรักของท้าวผาแดง นางไอ่ และภังคีพญานาคยังเป็นการสะท้อนถึงการแต่งงานของลูกเจ้าเมืองต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงวิธีการที่จะช่วยรักษาอำนาจและกระจายอำนาจเท่านั้น แต่บางครั้งยังเป็นวิธีสร้างสันติภาพระหว่างรัฐใกล้เคียงกันด้วย ลูกสาวเจ้าเมืองหรือชนชั้นปกครองมักจะมีบทบาทเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนสันติภาพ คือใช้เป็นเงื่อนไขอันหนึ่งที่จะระงับสงครามหรือแลกเปลี่ยนกับผืนแผ่นดินได้ เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเสมอในหัวเมืองแห่งอุษาคเณย์นี้๒๙ แต่ในตำนานเมืองหนองหารน้อยนี้ การสร้างสันติภาพไม่เป็นผล เพราะนางไอ่ตัวแทนฝ่ายขอมได้ปฏิเสธภังคีตัวแทนฝ่ายพญานาคคือลาวเสียแล้ว จึงเกิดสงครามในลักษณะศึกชิงนางสงครามระหว่างรัฐต่อรัฐขึ้น และนำความหายนะสู่เมืองหนองหารน้อยในที่สุด
-------------------------------------------------------------
๒๘รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม, แอ่งอารยธรรมอีสานฯ, หน้า ๒๔๐.
๒๙ดวงเดือน บุนยาวง, แนวคิดและฮีตคองท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๐), หน้า ๔๓.
-------------------------------------------------------------
๔.๓ ศาสนาศิลปวัฒนธรรม
ตำนานหนองหารนี้ถูกจารึกไว้ในตำนานอุรังคธาตุ อันเป็นสิ่งแสดงถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่แผ่เข้ามาถึงหัวเมืองแถบภูมิภาคเอเซียอาคเณย์แห่งนี้ และได้รับการยอมรับนับถือจากชนชาวพื้นเมืองเดิมเป็นอย่างดีมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อยอมรับนับถือพุทธศาสนาแล้ว ชนพื้นเมืองเดิมจะทิ้งความเชื่อเดิมที่ตนเคารพนับถืออยู่ก่อนแล้ว การแผ่อิทธิพลหรือการเผยแผ่พุทธศาสนาในภูมิภาคนี้ จึงน่าจะมีลักษณะของการผสมผสานหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนากับความเชื่อเดิมของชนพื้นเมืองที่มีอยู่ก่อนแล้ว เช่น เรื่องเกี่ยวกับพญานาคที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในลักษณะต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ชนพื้นเมืองเดิมเห็นว่าหลักคำสอนในทางพุทธศาสนามิได้มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งกับความเชื่อเดิมที่มีอยู่ อันจะนำไปสู่การยอมรับนับถือในที่สุด
ในภูมิภาคนี้แต่ก่อนมีความเชื่อในเรื่องวิญญาณผีฟ้า ผีแถน ผีอารักษ์ และพระภูมิเจ้าที่ วิญญาณบรรพบุรุษต่าง ๆ การเชื่อและการนับถือผีฟ้าผีแถนนั้น คือเชื่อว่ามีโลกอีกโลกหนึ่งที่เป็นโลกของพญาแถนซึ่งมีหน้าที่ช่วยสอดส่องดูแลความสุขทุกข์ของพวกเขา พวกผีฟ้าหรือพญาแถนนี้จะมาเยี่ยมมนุษย์ที่อยู่เมืองล่างปีละครั้ง เมื่อผีฟ้าหรือพญาแถนลงมาจึงมีการเลี้ยง การสังเวยด้วยพลีกรรมต่าง ๆ เพราะเหตุนี้ แถบภาคอีสานลุ่มแม่น้ำโขงทั้งฝั่งลาวและฝั่งไทย ตั้งแต่สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ฯลฯ จึงมีพิธีกรรมเลี้ยงผีฟ้าในเดือนสาม มีการเลี้ยงผีปู่ตาในเดือนหก เรียกว่า ประเพณีเลี้ยงผีหอ (หอปู่ตา) พิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตาประจำหมู่บ้านนี้ยังคงปฏิบัติกันเป็นพิธีใหญ่ในเดือนห้าเดือนหก เป็นบุญประเพณีของหมู่บ้านต่าง ๆ ที่สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน จุดประสงค์ของการเลี้ยงผีปู่ตานี้ก็เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ความสุขสวัสดีแก่บ้านเมือง ซึ่งพิธีกรรมเลี้ยงผีนั้นที่ปรากฏพบเห็นโดยทั่วไปชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นสังเวยไปบวงสรวงผีปู่ตา จะพูดในลักษณะนี้ว่า “ถึงฤดูนี้แล้ว เอาข้าวปลาอาหารมาเซ่นไหว้ปู่ตาขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้มั่งมีศรีสุข อย่าให้ขาดอย่าให้เข็ญ” เสร็จแล้วจะมีหมอผีคนหนึ่ง เรียกว่า เฒ่าจ้ำ จะพูดกับผีด้วยถ้อยคำขอร้องวิงวอนในลักษณะว่า “ถึงฤดูขวบปีแล้ว ลูกหลานมาเซ่นสังเวยอาหารต่อปู่ตา ลูกหลานเอาข้าวขึ้นยุ้ง ให้ช่วยรักษาลูกหลานให้อยู่ดีมีสุขทุกคน ให้ฝนตกแต่หัวปี เพื่อลูกหลานจะได้ทำนา ได้อยู่ได้กิน อย่าให้ข้าวขาดเล้า ข้าวขาดกระบุง ให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข ทุก ๆ คน”๓๐
ในตำนานเมืองหนองหารหลวง ปรากฏมีการสังเวยพลีกรรมป่าวประกาศแก่เทวดาของพระยาสุวรรณภิงคาระ เจ้าเมืองหนองหารหลวงก่อนแต่ที่จะสร้างเมืองใหม่บริเวณภูน้ำลอด เป็นการบอกกล่าวแก่เทวาอารักษ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นพระภูมิเจ้าที่ ณ ที่แห่งนั้น ให้ช่วยคุ้มครองปกปักรักษาประชาราษฎร์ชาวหนองหารหลวง ซึ่งการอธิษฐานนี้ทำให้สุวรรณนาคที่เป็นเทพารักษ์พระพุทธบาท ณ ภูน้ำลอดนั้นปรากฏตัวสำแดงให้พระยาภิงคาระได้เห็น และได้อภิเษกพระเจ้าภิงคาะด้วยน้ำหอมจากพระเต้าทองขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองหนองหารหลวงแต่นั้น จากช่วงนี้สามารถวิเคราะห์ได้ถึงการผสมผสานระหว่างความเชื่อของชนพื้นเมืองเดิมและความเชื่อใหม่คือพระพุทธศาสนาว่ามีอิทธิพลต่อสังคมในยุคนั้นเป็นอย่างมากในตำนานยังกล่าวถึงพระยาสุวรรณภิงคาระว่า พระองค์ปรากฏเห็นความมหัศจรรย์ในพระพุทธบาท ณ ภูน้ำลอดนี้ จึงมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ถอดมงกุฎทองคำมีหนักแสนตำลึงสวมลงบูชารอยพระพุทธบาทนั้น ได้ปวารณาตนเป็นข้าโอกาสทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตั้งแต่นั้น๓๑
ในตำนานเมืองหนองหารน้อย จะเห็นอิทธิพลความเชื่อเรื่อง พระยาแถน มีพิธีแข่งขันจุดบั้งไฟบูชาพระยาแถน หรือเพื่อเป็นการบอกข่าวแก่พระยาแถนที่อยู่บนฟ้าให้รับทราบว่า บัดนี้ถึงฤดูการทำไร่ทำนาแล้ว ให้พระยาแถนดลบันดาลให้ฝันตกลงมายังมนุษย์โลก ในฮีตสิบสองคองสิบสี่ว่า “เดือนหกเข้าไทเฮาแหนแห่ จุดบั้งไฟใหญ่น้อยบูชาแท้พ่อแถน”ร่องรอยอิทธิพลผีฟ้าผีแถน ผีพ่อแม่บรรพบุรุษ เทวาอารักษ์ แม้ปัจจุบันจะยังไม่ถูกลบล้างจางหายไปจากแนวคิดจิตใจของชาวพื้นเมืองไทย-ลาวแถบลุ่มแม่น้ำโขง ประเพณียังมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นอย่างดีถึงทุกวันนี้
เมื่อดูจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของเมืองหนองหารหลวง จะเห็นอิทธิพลของความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้ชัดเจน เพราะแถบลุ่มน้ำหนองหารจะพบศิลปวัตถุและโบราณสถานที่เป็นศิลปะแบบขอมปรากฏอยู่ทั่วไปซึ่งสันนิษฐานจากโบราณวัตถุและโบราณสถานเหล่านี้แล้วมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ ซึ่งเป็นยุคที่ขอมได้อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรม ได้นำลัทธิทางศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมาเผยแพร่ในแถบภูมิภาคนี้ พุทธศาสนาฝ่ายมหายานเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และพุทธศาสนาคติฝ่ายมหายานนั้นนิยมปักเสมาหินแสดงเขตศักดิ์สิทธ์ทางศาสนา บรรดาเสมาหินนี้จะตกแต่งและสลักศิลปกรรมลงไปด้วย เสมาหินพบในวัดพระธาตุพนม นครพนม สกลนครที่วัดพระธาตุเชิงชุม และวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง อุดรธานีพบที่บ้านเชียง เมืองโบราณที่บ้านดอนแก้ว หนองหารน้อย จังหวัดหนองบัวลำภูพบที่บ้านผือ จังหวัดเลยพบที่อำเภอวังสะพุง
เสมาหินที่บ้านท่าวัด อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่อยู่ในสมัยทวารวดีตอนปลาย เป็นเสมาขนาดเล็กที่มีการสลักเป็นพระสถูป ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการนับถือพระพุทธศาสนาก่อนที่มีการสร้างเมืองหนองหารขึ้น พบฐานวิหารที่ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐเป็นศิลปะขอมในสมัยลพบุรี ปราสาทวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง พระธาตุ ภูเพ็ก และปราสาทหินวัดธาตุดุม สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานของขอมโบราณที่สร้างขึ้นราวรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ปราสาทที่วัดพระธาตุนารายณ์เจงเวงและพระธาตุภูเพ็กนั้นสันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) มาก่อน หลักฐานจากทับหลังปรากฏเป็นนารายณ์บรรทมสินธุ์ชัดเจน ซึ่งพระนารายณ์นี้เป็นเทพสำคัญองค์หนึ่งในบรรดาเทพทั้ง ๓ ในศาสนาพราหมณ์คือ พระวิษณุ พระนารายณ์ และพระพรหม
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นช่วงที่อาณาจักรขอมซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองที่ประเทศกัมพูชา (เขมร) หมดอำนาจทางการเมืองลง เกิดความผันแปรทางการเมืองขึ้นในภาคอีสาน ทำให้ชุมชนที่เป็นเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองเหล่านั้นต้องโรยร้างไปด้วย ซึ่งเมืองหนองหารหลวงในฐานะเมืองลูกหลวงและ เป็นเมืองเอกที่เป็นศูนย์รวมของหัวเมืองน้อยใหญ่ในภูมิภาคนี้ ก็พลอยล่มสลายโรยร้างไปด้วยเช่นกัน จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ชาวศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) จึงอพยพลงมาตั้งรกรากแทนที่พร้อมกับนำพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์แผ่ขยายเข้ามายังชุมชนโบราณแห่งนี้ด้วย เมื่อกลุ่มชนเหล่านี้มาตั้งรกรากที่นี้แล้วก็ไม่ได้ทำลายแหล่งที่เคยเป็นศาสนสถานของของขอมที่มีมาแต่เดิม กลับฟื้นฟูหรือพัฒนาให้เป็นวัดวาอารามหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของตนต่อไป และได้สร้างเป็นตำนานเพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ ให้สมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเพิ่มความเคารพศรัทธาในศาสนสถานนั้น ๆ ยิ่งขึ้น พุทธศาสนาแบบถาวรจึงผสมผสานสารัตถะแก่นคำสอนทางศาสนาเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น จนสามารถเผยแผ่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคแถบลุ่มน้ำโขงนี้เป็นอย่างดี
-------------------------------------------------------------
๓๐ดวงเดือน บุนยาวง, แนวคิดและฮีตคอง ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง, หน้า ๒๐-๒๑.
๓๑กรมการศาสนา, กระทรวงศึกษาธิการ, ประวัติสำคัญทางพุทธศาสนา ตอน ๖ (กรุงเทพฯ : การศาสานา, ๒๕๒๘), หน้า ๔๐.
-------------------------------------------------------------
๔.๔ วิถีชีวิตและสภาพสังคม
เมื่อมาวิเคราะห์ความเป็นอยู่และสภาพสังคมในยุคนั้น จะเห็นว่าการสร้างบ้านแปลงเมืองในอดีต มักเลือกชัยภูมิที่ติดกับแม่น้ำลำคลองเป็นส่วนมากจึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นสังคมเกษตรกรรม ในตำนานที่ ๑ เมื่อพระราชโอรสของพระเจ้าอินทปัตถนครได้รับพระบัญชาจากพระบิดาให้มาสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่ พระองค์ได้เลือกเอาชัยภูมิที่ติดกับแม่น้ำแห่งหนึ่ง ในตำนานกล่าวว่าตั้งเมืองตรงกับ ท่านางอาบ การที่ทรงเลือกสร้างเมืองติดกับแม่น้ำนี้แสดงว่าสังคมในอดีตเป็นสังคมเกษตรต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยหลักในการประกอบสัมมาอาชีพ สังคมเกษตรกรรมนั้นน้ำมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะผลผลิตทางการเกษตรจะได้หรือเสียขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของน้ำ ถ้าแห้งแล้งขาดแคลนน้ำผลผลิตทางการเกษตรย่อมได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ความแห้งแล้งจึงบ่งถึงความทุกข์ยากของคนในสังคมเป็นอย่างดี เมื่อตั้งเมืองเรียบร้อยแล้ว จึงตั้งชื่อเมืองนิมิตมงคลแห่งหนองน้ำว่า เมืองหนองหารหลวง
อาชีพของชาวบ้านทั่วไปจึงเป็นกสิกรรมและการประมงตามทำเลที่อยู่ติดกับแม่น้ำ ในตำนานพบว่ามีอาชีพหาของป่าล่าสัตว์ด้วย แสดงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่านานาชนิดในขณะนั้นเป็นอย่างดี ตามตำนานกล่าวถึงฟาน (เก้ง) แทนสัตว์ป่าทั้งหลาย ฟานในตำนานคือพญาธนมูลนาคจำแลงกายติดตามพระเจ้าสุรอุทกราชกุมารมาด้วยความเคียดแค้น การที่ฟานถูกนายพรานยิงตายแล้วเนรมิตร่างกายให้ใหญ่โตเท่าช้างสาร ชาวบ้านชาวเมืองเฉือนเนื้อแจกจ่ายกินกันเท่าไรก็ไม่รู้หมด วิเคราะห์ให้เห็นว่ายุคนั้นมีสัตว์ป่านานาชนิดมากมาย แม้จะล่าเป็นอาหารก็ไม่รู้จักหมด จึงเห็นวิถีชีวิตความเป็นมาอยู่อุดมสมบูรณ์ มีความเป็นอยู่แบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจานกันและกัน แบ่งปันสิ่งของกันและกันใช้ในลักษณะ “พริกอยู่เรือนหน้า เกลืออยู่เรือนใต้” ไม่ต้องซื้อหากันแต่อย่างใด เงินตราจึงไม่ค่อยมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของสังคมมากนัก สภาพของสังคมจึงมีลักษณะอยู่กันแบบพี่น้องคณาญาติ ที่มีความผูกพันเอื้ออาทรต่อกันและกันสูงกว่าระบบสังคมอุตสาหกรรม
การล้มตายของชาวเมืองในตำนาน แสดงถึงการสาธารณสุขที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา หยูกยาที่จะใช้รักษาไม่มี หรือมีก็ไม่เพียงพอกับโรคร้ายต่าง ๆ ได้ การล่มสลายของชาวเมืองทั้งเมืองเช่นนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโรคร้ายชนิดหนึ่งที่ไม่มีทางรักษาให้หายได้ โรคที่น่ากลัวในสมัยนั้นมีโรคชนิดหนึ่งคือ “โรคห่า” เมื่อระบาดแล้วจะมีผู้คนล้มตายจากโรคนี้เป็นจำนวนมาก ในตำนานทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงโรคร้ายนี้ไว้หลายแห่ง ถึงกับต้องอพยพหนีย้ายไปสร้างบ้านเมืองแห่งใหม่ บ้านเมืองที่เกิดโรคร้ายนี้จะกลายเป็นเมืองร้างในชั่วเวลาอันไม่นาน การล่มสลายของชาวหนองหารหลวงจึงน่าจะหมายความถึงความหมายนี้มากกว่าที่จะเป็นการทำลายพญานาคจริง ๆ ตามตำนานนั้น ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่ง อาจเกิดจากการถูกน้ำท่วมบ้านเมืองจริง ๆ แต่เกิดจากภัยธรรมชาติ เพราะเมื่อดูข้อเท็จจริงตามภูมิศาสตร์แล้ว เมืองหนองหารหลวงอยู่ที่ลุ่มเชิงเทือกเขา ภูพาน เมื่อฤดูน้ำหลากมากไม่ทันระวังตั้งตัว ถูกน้ำท่วมอย่างฉับพลัน บ้านเมืองประสบกับความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาล มองภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันน้ำท่วมเมืองสกลนคร (พ.ศ.๒๕๖๐) และที่เกิดน้ำท่วมตัวเมืองอุดรธานี อุบลราชธานี และที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (พ.ศ. ๒๕๕๓) น้ำท่วมจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย(พ.ศ.๒๕๔๕) ตลอดถึงสถานการณ์น้ำท่วมเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ก็พอมองเห็นภาพสถานการณ์น้ำท่วมเมืองหนองหารหลวงในอดีตได้เป็นอย่างดี ความสูญเสียทรัพย์สินและการล้มหายตายจากทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงยากที่จะประเมินค่าแท้จริงได้
การล้มตายของชาวเมืองอันเกิดจากการกินเนื้อฟาน สะท้อนถึงความโลภของมนุษย์ที่มิได้คำนึงถึงความเป็นอยู่อย่างพอเพียง แต่เพียงเพื่อปากท้องสนุกสนานของตนเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรต่าง ก็ใช้อย่างฟุ่มเฟือยไม่รู้จักคุณค่า ทำให้ทรัพยากรถูกทำลายหมดไปอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่นาน ป่าไม้ถูกทำลายลงเป็นจำนวนมาก จนแทบจะไม่มีป่าให้อาศัยทำบ้านเรือนได้อีกต่อไป โลกจึงสูญเสียความสมดุลทำให้เกิดวิกฤติการณ์ทางธรรมชาติ ที่สร้างความเลวร้ายแก่มนุษย์มากขึ้น เหมือนชาวเมืองหนองหารหลวงที่ประสบหายนะเพราะเห็นแก่กินนั้นเอง ในตำนานจึงแฝงคติธรรมอันลึกซึ้งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ว่า อย่ามีชีวิตเพียงเพื่อเห็นแก่ปากแก่ท้อง มิฉะนั้น จะประสบชะตากรรมที่เลวร้ายเข้าสักวันใดวันหนึ่งอย่างแน่นอน
คติธรรมเรื่องความโลภจากตำนาน สะท้อนให้ภาพการณ์ปัจจุบันได้อย่างชัดเจน เพราะนอกจากจะเกิดปัญหาทางธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ที่กระทบกระเทือนความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจทั่วทั้งโลกแล้ว ยังเกิดภัยธรรมชาติอื่นตามมาอีกมากมาย ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่น ๆ อีกเป็นกระบวนการลูกโซ่ ปัจจุบันหลายฝ่ายต่างหันมาให้ความสนใจกับปัญหานี้กันอย่างจริงจัง ซึ่งแต่ก่อนเป็นเรื่องของทางศาสนาเสียเป็นส่วนใหญ่ เดี๋ยวนี้ต่างก็มองเห็นปัญหานี้ทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรต่างก็สนใจและให้ความร่วมมือต่อการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงห่วงใยต่อปัญหาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมนี้เช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีพระราชปรารภถึงการตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมว่า
ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไป
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความเดือนร้อนที่ทุกคนต้องประสบ
แต่มิใช่ทุกคนจะรู้ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคน
ที่จะต้องมีความรู้เพื่อจะได้มีแนวทางแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง๓๒
ทรงอรรถาธิบายเรื่อง “ปฏิกิริยาเรือนกระจก” (Greenhouse Effect) เพื่อแสดงให้เห็นโทษของการตัดไม้ทำลายป่า การเผาผลาญเชื้อเพลิงต่าง ๆ ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์หนาแน่นในบรรยากาศโลก ซึ่งทำให้โลกร้อนมากขึ้นและจะทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเกิดผลกระทบให้สภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงศึกษาหาวิธีทางในการแก้ไขฟื้นฟูบูรณะสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนมา เพื่อให้สามารถรองรับภัยร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าอย่างทันท่วงทีได้ ทรงมีโครงการที่เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายโครงการ อาทิ โครงการปลูกป่าจากสันเขาสู่เชิงเขา มีพระราชดำรัสถึงความสำคัญของป่าว่า
ธรรมชาติของผืนป่านั้น มีความละเอียดอ่อน
และมีความหลากหลายอยู่ภายในตัวเอง แต่ละชีวิต
ดำรงเกื้อกูลกันอย่างลึกซึ้งภายใต้ระบบนิเวศน์
ที่เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ เมื่อตัวหนึ่งตัวใดได้รับ
ผลกระทบก็จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อสิ่ง
อื่น ๆ ไปด้วย และโดยเฉพาะป่าไม้ตัวจักรใหญ่อัน
สำคัญซึ่งเป็นหลักยืนให้หลายชีวิตได้อาศัย
อย่างสิ้นเชิง หากวันนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
และเร่งด่วนแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อปรากฏการณ์
ธรรมชาติซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้๓๓
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงห่วงใยต่อวิกฤติการณ์ทางธรรมชาติไม่แพ้พระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ มีพระราชเสาวนีย์ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หามาตรการยับยั้งทำลายป่า เพื่อปลูกฝังให้พสกนิกรได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ ทรงปล่อยชีวิตสัตว์ให้กลับคืนสู่สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เพื่อให้เกิดสมดุลในระบบนิเวศน์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เป็นอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงตระหนักปัญหาสภาพแวดล้อม ทรงสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทุกปีจะเสด็จปลูกป่าชายเลนอันเป็นการรักษาความสมดุลของธรรมชาติชายทะเลไว้ ทำให้ระบบนิเวศน์ชายทะเลมีความสมดุลกลับคืนสู่สภาพความสมดุลอีกครั้ง
นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐ องค์การทางเลือกการศึกษาก็ได้ระดมนักวิชาการแขนงต่าง ๆ ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้แขนงต่าง ๆ ที่จะช่วยให้มนุษย์รู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด เช่น มีการคิดค้นอุปกรณ์ เครื่องมือใหม่ๆ ที่จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น จะได้รู้จักวิธีปฏิบัติต่อธรรมชาติอย่างเหมาะสมในทิศทางที่จะช่วยรักษาโลกไม่ให้ถูกทำลายโดยเงื้อมมือของมนุษย์
ในทางฝ่ายพุทธศาสนา พระสงฆ์ก็ช่วยรณรงค์โดยแสดงหลักธรรมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พระพุทธองค์ทรงสอนให้กำจัดหรือละตัณหา หรือควบคุมคุมกิเลสตัณหาด้วยสติปัญญา เพราะถ้าหากมนุษย์ถูกกระตุ้นให้มีความต้องการในการเสพมากจนเกินไปแล้ว ก็จะนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นปัจจัยการผลิต ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากก็จะถูกทำลายหรือหมดลงไปเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ในการนี้ ฉะนั้น ตราบใดที่มนุษย์เรายังมีความต้องการจากกิเลสตัณหาอย่างไม่มีขีดจำกัดอยู่อย่างนี้ ทรัพยากรธรรมชาติก็จะถูกทำลายอย่างรวดเร็ว จะเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา ความทารุณโหดร้ายจากภัยธรรมชาติในลักษณะต่าง ๆ ก็ตามมา ดังที่ประสบพบเห็นกันอยู่ขณะนี้ เช่น น้ำท่วม ความแห้งแล้ง ฯลฯ พระพุทธเจ้าทรงตระหนักถึงปัญหานี้ทั้งหมด จึงทรงพยายามสอนมนุษย์ให้กำจัดหรือละตัณหา ใช่เพียงให้พ้นโลกไปเกิดในภพภูมิที่ประเสริฐนอกเหนือจากโลกมนุษย์เท่านั้น แต่ทรงประสงค์เพื่อให้สังคมมนุษย์ในภพภูมินี้มีระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนกันและกันให้เดือดร้อนทั้งระหว่างมนุษย์และสรรพสิ่ง ให้ดำรงอยู่อย่างสันติ ดำรงอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน คือเอื้อประโยชน์ต่อกันและกันในการที่จะให้สิ่งหนึ่งพัฒนาไปสู่ความดีงามในตัวมันเอง มีหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติในฐานะมิตรว่า บุคคลนั่งนอนในร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลว๓๔ เป็นหลักที่สอนให้มนุษย์มีเมตตาต่อธรรมชาติทั้งที่เป็นตัวมนุษย์เอง สรรพสัตว์พืชพรรณ สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ไม่ให้มนุษย์ไปทำลายเบียดเบียน หรือกระทำอะไรลงไปด้วยความประมาทไร้เหตุผล หรือปราศจากความเมตตากรุณา แต่ให้เข้าไปเกี่ยวข้อง ด้วยความรู้สึกที่ดีงามโดยใช้ปัญญาพิจารณาอย่าง ถี่ถ้วน ตระหนักต่อค่าและความหมายของสิ่งเหล่านั้นอย่างแท้จริงพระพุทธองค์ทรงนำมาสอนให้เหล่าสาวกและพุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามโดยไม่มีการบังคับ แต่ให้เหตุผลสมบูรณ์บริบูรณ์ในตัวเอง คือให้ทุกคนสามารถเข้าใจในเหตุผลด้วยจิตสำนึกของตนเองว่า เมื่อเราปฏิบัติต่อธรรมชาติในทางดีงาม ธรรมชาติก็จะปฏิบัติต่อเราในทางดีงามเช่นกัน แต่ตรงข้าม ถ้าหากเราปฏิบัติในลักษณะเบียดเบียนธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะทำลายมนุษย์เช่นเดียวกัน ฉะนั้น กฎแห่งกรรมนี้ ใคร ๆ ก็คัดค้านโต้แย้งไม่ได้ เพราะเป็นหลักแห่งความจริง เป็นหลักแห่งเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ความจริงประจักษ์ชัดได้ตลอดเวลา การแฝงคติธรรมอันลึกซึ้งไว้ในตำนานนี้ จึงเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีงามในการดำรงชีวิตอันมีคุณค่าเป็นอย่างดี
-------------------------------------------------------------
๓๒ดวงดาว สุวรรณรังษี, “การพัฒนาที่ยั่งยืน.” อสท ๕ (ธันวาคม ๒๕๓๗) : หน้า ๘๕.
๓๓เรื่องเดียวกัน, หน้า ๕๙.
๓๔ขุ. ชาตก. ๒๐/๖๓/๑๕. พระไตรปิฎกภาษาไทย
-------------------------------------------------------------
๕. บทสรุป
ตำนานเมืองหนองหารหลวงทั้ง ๒ ตำนานนี้ มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต ของชาวอีสานเป็นอย่างมากได้รับการสืบต่อเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่นหนึ่งด้วยวิธีแบบมุขปาฐะ คือแบบปากต่อปากเรื่อยมา ครั้นเมื่อมีงานเทศกาลประจำปีของวัดในหมู่บ้านต่าง ๆ จะได้เห็นหมอลำซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวอีสานนำเรื่องนี้ออกแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วย ทำให้เกิดความประทับใจจนยากที่จะลืมเลือนได้อย่างง่าย ๆ เพราะเหตุนี้ จึงมีคนเฒ่าคนแก่บางคนที่นึกถึงความหลังครั้งอดีตนั้นแล้ว ก็ไม่วายที่จะบ่นเสียดายสิ่งเหล่านี้ ที่กำลังค่อยๆสูญหายไปทีละน้อยพร้อมกับกาลเวลา ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างไม่หยุดยั้ง
ความจริง คนโบราณมีวิธีที่จะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปในอดีตให้ทรงจำได้อย่างง่าย ๆ จนเกิดจิตสำนึกและความประทับใจในเรื่องนั้นได้อย่างอัศจรรย์ ซึ่งเรื่องบางเรื่องก็แฝงไว้ด้วยความสนุกสนานตื่นเต้น ทั้งผูกโยงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ให้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์สอดคล้องกันอย่างสมจริง ตลอดแฝงหลักคติธรรมในการดำเนินชีวิตของชนในท้องถิ่นนั้น ให้ยอมรับปฏิบัติได้โดยง่ายชนิดไม่ต้องบังคับเคี่ยวเข็ญแต่ประการใด แต่เป็นไปด้วยความสมัครใจที่จะเชื่อถือและศรัทธาปฏิบัติตามด้วยเต็มใจและบริสุทธิ์ใจ ได้ช่วยหล่อหลอมผูกพันสังคมให้สงบร่มเย็น มีชีวิตชีวา ทั้งสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบชาตาชีวิตที่ลำบากยากแค้นได้เป็นอย่างดี สร้างความรู้สึกภาคภูมิใจกับความเป็นเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ของตนได้อย่างวิเศษ
นี้เป็นเพียงการนำเสนอแนวคิดที่เกิดจากมุมมองแง่ต่าง ๆ ของผู้เขียนซึ่งทำให้เกิดการตีความได้ต่าง ๆ กัน จึงมิใช่เป็นการเสนอข้อเท็จจริงที่ถือว่าสมบูรณ์ เพราะความรู้เชิงวิชาการนั้นเมื่อมีการค้นคว้าเจอหลักฐานข้อเท็จจริงในแง่มุมใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์แก่สังคมก็นำเสนอให้รับรู้ ซึ่งข้อเท็จจริงอาจใช้ไม่ได้เมื่อมีผู้ค้นพบข้อมูลใหม่ที่เป็นข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์กว่า แต่ทั้งนี้ ข้อมูลเก่านั้นก็มิใช่ไม่มีความสำคัญจนถึงต้องตัดทิ้งไปหรือปฏิเสธไปทันที แต่ใช้เป็นฐานในการค้นคว้าให้ได้ข้อเท็จจริงใหม่เป็นอย่างดี ทุกคนจึงมีความอิสระทางความคิดอย่างเต็มที่ในการจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่าง ๆ ในการนำไปสู่การค้นคว้าวิจัยในเรื่องนั้น ๆ ให้ละเอียดสมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้น
ภาพที่ ๘ พระมหาคาวี ญาณสาโร เจ้าอาวาสวัดสะพานคำ